ประวัติตีคลีไฟ
บ้านหนองเขื่อง ตำบลกุดตุ้ม อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
----------------------------------------------------
คลีไฟ (KLEE-FIRE) เป็นการละเล่นที่แปลกและท้าท้าย ซึ่งหาดูได้ยากมากและจะมีแห่งเดียวในเมืองไทยเหมือน ๆ กับ “ทุ่งดอกกระเจียว” อันลือชื่อซึ่งจะมีให้พี่น้องชาวจังหวัดชัยภูมิได้ภาคภูมิใจตลอดว่าที่อื่นในโลกนี้ แม้จะมีบ้างแต่ไม่สวยเท่าดอกกระเจียวบ้านฉัน เช่นกัน
ประวัติคลีไฟ เท่าที่จำความได้ตามที่ผู้เฒ่าท่านได้เล่าให้ฟังมา ณ หมู่บ้านหนองเขื่อง ตำบลกุดตุ้ม อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ การเล่นคลีไฟ เริ่มต้นมีมาตั้งแต่ปี 2489 ซึ่งแรกเริ่มการเล่นเรียกว่า “คลีโหล๋น” โดยการเล่นมีวิธีเล่นที่ง่าย โดยแข่งขันกันตีคลีไกล ใครมีความสามารถตีได้ไกลเป็นผู้ชนะ ต่อมาจึงมีการเปลี่ยนจากการตีไกลมาเป็นการแข่งขันแบบเป็นทีม “แล้วคลีไฟหล่ะมายังไง”
เมื่อก่อน ระบบความสะดวกสบายด้านสาธารณูปโภคยังไม่มี เช่น ไฟฟ้า,น้ำประปา รวมถึงความสะดวกสบายด้านการเดินทางด้วยนั้นแหละ คนสมัยก่อนการไปอาบน้ำชำระร่างกายจะชักชวนกันไปยังท่าน้ำ (ห้วย,หนอง,คลอง,บึง) ซึ่งจะมีกอไผ่ขึ้นเรียงรายตามแหล่งน้ำเพราะไม้ไผ่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตคนชนบทอย่างยิ่งเลยหล่ะ โดยเฉพาะในช่วงเย็น (ตอนเช้าไม่ค่อยจะได้อาบน้ำหรอกนะ) จะไปกันเป็นกลุ่ม สวมผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้าพาดไหล่ (ผ้าเช็ดตัว) สูบยาสูนมวนใหญ่ ๆ (เมื่อก่อนเรียกว่าบุหรี่(ยาสูบ) เป็นยาเสพติดไม่รู้จักหรอก) เพราะจะสูบกันเกือบทุกคน ก็เลยคิดสนุกเพื่อเป็นการเรียกเหงื่อ ก่อนอาบน้ำ แบ่งทีมกันเล่น (คลีโหล๋น) ดีกว่า ! อ้าวไอ้ทิดจะค่ำแล้ว เองไปก่อกองไฟไว้ก่อนแล้วค่อยมาเล่น เดี๋ยวค่ำลงอากาศมันจะหนาว ความสนุกสนานกับการใช้เหง้าไม้ไผ่เป็นอุปกรณ์ ตีก้อนไม้ขนาด 10 – 15 cm ไปยังเขตฝ่ายตรงกันข้ามแล้วเข้ากรอบที่กำหนด (ประตู) ของฝ่ายตรงกันข้าม (คล้ายกีฬาฮอกกี้) ช่างมีความสุขจริงๆ เลยนะ
บังเอิ้ญ บังเอิญ ลูกไม้กลิ้งเข้าไปในกองไฟ กว่าจะเขี่ยมันออกมาได้มันก็ติดไฟไปแล้ว ความรู้สึกในอารมณ์ที่กำลังสนุกต่อเนื่อง เลยไม่ยอมดับไฟที่กำลังลุกไหม้ ก้อนไม้ ก็เลยปล่อยเลยตามเลย และแล้วความคิดความคิดใหม่ ๆ กับการเล่น “คลีโหล๋น” จึงเกิดขึ้น ทุกเย็นของการมาอาบน้ำของกลุ่มชาวบ้านหนองเขื่องจะเล่น “คลีโหล๋น” พอค่ำลงมองไม่เห็นลูกไม้ จึงนำไฟมาจุดลูกไม้ เพื่อการมองเห็น จึงเล่นหรือแข่งขันกันต่อได้ในช่วงค่ำ มันสร้างความสนุกสนานเร้าใจกว่าการเล่น “คลีโหล๋น” แบบเดิม ๆ จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อ คลีไฟ (KLEE-FIRE) ชาวบ้านหนองเขื่อง ได้กลับมาเล่นคลีไฟอีกครั้งเมื่อ 6-7 ปี ที่ผ่านมา และจะถือว่าเป็นกีฬาพื้นบ้านที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ และสืบทอดเป็นประเพณีตลอดไป
ซึ่งชาวบ้านหนองเขื่องจะจัดกิจกรรมการเล่นปีละ 1 ครั้งในช่วง “งานลอยกระทง” ของทุกปีในช่วงเช้าจะมี การแข่งขันปล่อยโคมไฟ, การแข่งขันเรือพาย ประเภท 5 ฝีพาย, การจัดนิทรรศการและประกวดไม้คลี – ลูกคลีไฟ, การแข่งขันตีคลีไฟของกลุ่มเยาวชนตำบลกุดตุ้ม, การแข่งขันตีคลีไฟของกลุ่มแม่บ้านตำบลกุดตุ้ม, การแข่งขัน ฮูลาฮูป, การแข่งขันตีคลีไฟลอดบ่วงและการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน ฯลฯ และในช่วงเย็น (ประมาณ 18.00 น.) จะทำการแข่งขันการตีคลีไฟ 7 คน (KLEE-FIRE) เป็นประจำทุกปี
สอบถามข้อมูลได้ที่ อบต.กุดตุ้ม 044-885059
----------------------------
กติกาการเล่น “คลีไฟ” (KLEE-FIRE)
บ้านหนองเขื่อง ตำบลกุดตุ้ม อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
---------------------------------------------------------------------
- อุปกรณ์การเล่น
- เหง้าไม้ไผ่ (ลักษณะแบบตะขอ) ยาวประมาณ 1 เมตร หรือความยาวพอเหมาะกับผู้ใช้ไม้นั้น ๆ เพื่อใช้เป็นไม้ตี
- ลูกไม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 10 – 15 เซนติเมตร และต้องเป็นไม้นุ่น (งิ้ว) หรือไม้จากต้นทองหลาง เนื่องจากมีน้ำหนักเบา
- สนามแข่งขัน ใช้สนามสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดเท่าสนามฟุตบอล โดยสนามจะใหญ่หรือเล็กขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เล่น เช่น จำนวนผู้เล่นฝ่ายละ 11 คน ใช้สนามฟุตบอลขนาดผู้เล่นฝ่ายละ 11 คน หรือจำนวนผู้เล่นฝ่ายละ 7 คน ใช้สนามฟุตบอลขนาดผู้เล่นฝ่ายละ 7 คน (ฟุตซอล)
- จำนวนผู้เล่น แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ๆ ละ 11 คน หรือ 7 คน หรือตามความเหมาะสม
- ลักษณะการเล่น จะต้องตีลูกไม้ที่ติดไฟส่งต่อกันไปเข้าประตูฝ่ายตรงข้าม หากเข้าประตูจะถือเป็นคะแนนได้ 1 ประตู (หลักการเดียวกันกับฮอกกี้ และกีฬาฟุตบอล) โดยมีผู้ป้องกันยืนอยู่ที่ประตู ไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามดีลูกไฟเข้าประตู
- ผู้เล่นจะตีลูกไฟได้ โดยไม้ที่ตีจะต้องไม่เกินระดับเอว หากตีสูงเกินกว่านี้จะถือเป็นการผิดกติกา ฝ่ายตรงข้ามจะได้ตั้งลูกเล่น ณ จุดที่ทำผิดกติกา
- ผู้ใดที่ตีลูกออกนอกเขตสนาม ฝ่ายตรงข้ามจะนำลูกไฟ บนเส้น ณ จุดที่ออก แล้วเล่นต่อ (เหมือนการเล่นกีฬาฟุตซอล)
- ผู้เล่นจะใช้อวัยวะส่วนใดของร่างกายเล่นไม่ได้ จะถือว่าเล่นผิดกติกา ยกเว้นผู้เล่นที่ทำหน้าที่รักษาประตู ทุกส่วนของร่างกายใช้ถูกลูกหรือเล่นลูกได้
- การเริ่มเล่น หรือแข่งขัน ผู้เล่นฝ่ายละ 1 คน พร้อมกันที่เส้นแบ่งครึ่งสนาม (กลางสนามแข่งขัน จะใช้ไม้เคาะที่พื้น สลับกับเตาะไม้ฝ่ายตรงข้าม จำนวน 3 ครั้ง (รวมจำนวนเคาะทั้งหมด 6 ครั้ง)
- เวลาที่ใช้ในการแข่งขัน แบ่งเวลาการแข่งขันออกเป็น 2 ช่วง ๆ ละ 15 นาที มีเวลาพักครึ่งไม่เกิน 10 นาที
สอบถามข้อมูลได้ที่ อบต.กุดตุ้ม 044-885059
|